กินนมแม่อย่างเดียว ทำไมถ่ายหลากสี สีเขียว สีเหลือง ไม่ถ่ายหลายวัน มาหาคำตอบกัน
อุจจาระของเด็กทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะค่อนข้างเหลว บางครั้งถึงกับเป็นน้ำ อุจจาระจะมีสีและลักษณะแตกต่างกันขึ้นกับอายุและอาหารที่แม่รับประทาน การเปลี่ยนแปลงอุจจาระของทารกที่กินนมแม่มีเป็นลำดับดังนี้
สีเทา
ใน 1-2 วันแรกจะถ่ายไม่บ่อยเพียงวันละ 1-2 ครั้ง และอุจจาระจะเหนียวสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน เรียกว่า ขี้เทา (meconium) หัวน้ำนมที่ทารกได้รับในช่วงนี้จะช่วยขับถ่ายขี้เทา และช่วยลดอาการตัวเหลืองลงไปด้วย การที่ทารกขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรกๆ เป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่ได้พอเพียงด้วย หลังจากนั้นอุจจาระจะเริ่มเป็นสีเขียวจางลง มีน้ำปนมากขึ้น บางคนจะมีสีน้ำตาลปนเม็ดๆในอุจจาระ
เขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง
ในวันที่ 3- 4 หลังคลอด เมื่อเด็กทารกได้ดูดนมแม่บ่อยขึ้น สีอุจจาระจะค่อยๆ จางลงจากเขียวเข้มเป็นสีเขียวปนเหลือง ลักษณะจะเหนียวน้อยลงและมีน้ำปนมากขึ้น (transitional stool) อุจจาระมีปริมาณมากขึ้น ถ่ายเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อวัน
สีเหลืองทองถึงเหลว คล้ายโจ๊ก
หลังจากวันที่ 4 เด็กทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีอุจจารงนิ่มจนะสีเหลืองทอถึงเหลว คล้ายโจ๊กใส่ฟักทอง มีน้ำปนค่อนข้างมาก สังเกตดูในผ้าอ้อมจะเห็นเนื้ออุจจาระอยู่ตรงกลางและมีน้ำแผ่ออกโดยรอบ ถือว่าปกติไม่ใช่อาการท้องเสียแต่อย่างใด
คล้ายเม็ดมะเขือปน
สัญญาณที่ดีว่าทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ คือ ในทารกอายุ 1 เดือน อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง บางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายเม็ดมะเขือปนอยู่ เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์โดยเฉลี่ยจะถ่ายมีเนื้ออุจจาระมากพอสมควรวันละ 3-4 ครั้งขึ้นไป แต่บางคนอาจจะถ่ายกะปริบกะปรอยจำนวนน้อยๆ หลังจากดูดนมแม่ทุกครั้งก็ได้ แก้ไขได้โดยการให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า
อุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น
เมื่อเด็กทารกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงของการถ่ายอุจจาระคือ อุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้นจากลักษณะเละเป็นโจ๊กกลายเป็นเหมือนยาสีฟันเหนียวๆ สีอาจจะมีตั้งแต่ สีเหลืองทองจนถึงสีออกเขียวปนเหลืองขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน และจำนวนครั้งจะลดลงเหลือวันละ 1-2 ครั้ง ดังกรณีตัวอย่างเช่นทารกอายุ 1 เดือนรายหนึ่งไม่ถ่ายอุจจาระมา 7 วัน ตรวจร่างกายทารกปกติดีไม่มีท้องอืด ถ้าอุจจาระสีเหลืองทองจำนวนมากไม่พบลักษณะก้อนแข็ง นี่คือลักษณะอุจจาระปกติของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงเดือนที่สองเช่นกัน
น้ำสีเขียวๆ ปนเม็ดมะเขือ
บางครั้งอุจจาระของเด็กทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจจะออกมาเป็นน้ำสีเขียวๆ ปนเม็ดมะเขือ เป็นน้ำสีเหลือง หรือน้ำสีเขียวจำนวนไม่มากติดออกมากับผ้าอ้อม บางคนมีมูกเขียวๆ ปนออกมาด้วย ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือเหม็นเปรี้ยวของอุจจาระทารกที่ท้องเสียจากการติดเชื้อ อาจเป็นเพราะอาหาร ผัก และน้ำผลไม้บางชนิด หรือวิตามินที่แม่รับประทานอาจจะทำให้สีอุจจาระของลูกเปลี่ยนแปลงไปได้ ยกตัวอย่างอุจจาระปกติสีเหลืองทองของทารกอายุ 5 เดือน วันต่อมาแม่รับประทานผักบุ้งจำนวนมาก หลังจากนั้นลูกจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีเขียว
ข้อควรสังเกต
ไม่ควรพบเลือดสีแดงๆ ปนในอุจจาระทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ถ้าพบว่ามีเส้นสีแดงๆ อยู่ในอุจจาระอาจเกิดจากทารกเพศหญิงในวันแรกๆ หลังคลอดอาจมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดจากอิทธิพลของฮอร์โมนของแม่ เป็นภาวะปกติที่จะค่อยๆหายไป หรือปฏิกิริยาการแพ้ต่อนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่แม่รับประทาน และมีโปรตีนนมวัวเล็ดลอดออกมากับนมแม่ หรืออาจเกิดจากรอยแผลที่บริเวณทวารหนัก หรือในลำไส้
ทารกที่ได้รับปริมาณนมแม่เพียงพอควรปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 6 ครั้งใน 1 เดือนแรก โดยทั่วไปปัสสาวะจะใสไม่มีสี หรือสีเหลืองจางๆแต่ในทารกบางคนอาจปัสสาวะมีสีได้เช่น ปัสสาวะสีสนิม (Brick dust urine) พบในเด็กบางคนช่วง 2-3 วันหลังคลอด เกิดจาก Uric acid crystal ภาวะนี้จะหายไปได้เอง ถ้าปัสสาวะสีเข้ม (dark urine) แสดงว่าทารกได้รับนมไม่พอ
พว.นฤมล เปรมปราโมทย์ เรียบเรียง