นอกจากข้อต้องห้ามในคุณแม่หลังคลอดแล้ว เรายังมีข้อต้องห้ามสำหรับทารกน้อยด้วยนะคะ เพราะสุขภาพของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องใส่ใจ ยิ่งหากคุณเป็นคุณแม่มือใหม่ด้วยแล้ว การเรียนรู้ ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพทั้งข้อควรปฏิบัติและข้อต้องห้ามหลังคลอดต่างๆ ทั้งต่อตัวคุณเองและตัวลูกน้อยเองนั้น ย่อมถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากเลยล่ะ ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่านะคะว่าข้อต้องห้ามที่คุณแม่ควรเฝ้าระวังและไม่ควรปฏิบัติกับเจ้าตัวน้อยที่คุณรักนั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
1.ห้ามออกนอกบ้านก่อน 3 เดือน
เพราะภูมิคุ้มกันและระบบต่างๆ ทั้งภายในภายนอกของลูกน้อยยังทำงานไม่เต็มที่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กออกนอกบ้าน รวมถึงการเดินทางไปที่สาธารณะที่มีคนเยอะๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ร่างกายของลูกติดเชื้อและเจ็บป่วยด้านอื่นๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดได้ค่ะ
2.ห้ามทานอาหารเสริมก่อนถึงวัย 6เดือน
สำหรับเด็กแรกคลอดนั้น ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จึงไม่ควรให้ทานอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ จนกว่าจะถึงวัยที่รับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ได้
3.ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก
ผิวหนังของทารกมีความบอบบางมาก อาจเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวได้ง่าย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู หรือข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ควรเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ที่สำคัญแป้งเด้ก คุณแม่ควรตรวจสอบส่วนผสมด้วยค่ะ ว่า มีสารต้องห้าม ทัลคั่มด้วยหรือเปล่า ห้ามใช้นะคะ
4.ห้ามนอนหรืออุ้มเด็กผิดท่า
กระดูกและกล้ามเนื้อของทารกยังคงบอบบาง จึงควรจัดท่าทางการนอนหรือการอุ้มด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ รวมถึงระวังบริเวณข้อต่อต่างๆ และคอด้วย หากให้ดีแนะนำให้คุณแม่ควรศึกษาท่าอุ้มลูกในอิริยาบถต่างๆ ไว้เนิ่นๆ ล่วงหน้าก่อนคลอดจะดีกว่าเพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนก่อนที่วันคลอดจะมาถึง ทำให้การอุ้มลูกหลังจากคลอดแล้วเต็มไปด้วยความเข้าใจและระมัดระวังมากกว่าความเก้ๆ กังๆ และความประหม่าที่อาจมีมากกว่า
5.ห้ามกดบริเวณกระหม่อม
กระหม่อมของเด็กทารกยังคงบอบบางมาก อีกทั้งยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงมีโอกาสฉีกขาดสูงหากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จนอาจเกิดภาวะร้ายแรงตามมาและอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้ ดังนั้นห้ามกดหรือทำกิจกรรมที่จะไปกระทบสมองของลูกน้อยเด็ดขาด
เมื่อได้ทราบข้อห้ามเหล่านี้แล้วก็อย่าลืมใส่ใจและระมัดระวังกันให้มากนะคะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งของคุณแม่ รวมถึงความปลอดภัยต่อลูกน้อยด้วย หลายข้ออาจดูเหมือนยุ่งยากแต่จริงๆ แล้วปฏิบัติได้ง่ายมาก เพียงแค่ต้องหมั่นเอาใจใส่เท่านั้นเองค่ะ